เท้าแบน (Flat Feet) คือ ลักษณะของเท้าที่ไม่มีส่วนโค้งเว้าตรงกลางเท้า เมื่อลุกขึ้นยืน ฝ่าเท้าจะราบแนบไปกับพื้นทั้งหมด ตรงกลางฝ่าเท้าที่โค้งขึ้นมานั้นคืออุ้งเท้า (Arch) ซึ่งทอดไปตามแนวยาวและแนวขวางของฝ่าเท้า อุ้งเท้าเกิดจากการยึดกันระหว่างเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และกระดูกเท้า โดยเส้นเอ็นที่เท้าเองและเส้นเอ็นส่วนที่ต่อจากขาส่วนล่างจะยึดกระดูกตรงกลางเท้าเข้ากับส้นเท้า ทำให้กลางฝ่าเท้าโค้งเข้ามาและไม่ราบไปกับพื้น ภาวะเท้าแบนเกิดขึ้นได้เมื่อเป็นเด็กเล็ก เนื่องจากฝ่าเท้าของเด็กมีไขมันและเนื้อเยื่ออ่อน ทำให้มองเห็นอุ้งเท้าตรงฝ่าเท้าได้ไม่ชัด แต่เมื่อโตขึ้นช่องโค้งก็จะค่อย ๆ ปรากฏขึ้นมา บางคนอาจได้รับการถ่ายทอดลักษณะดังกล่าวมาทางพันธุกรรม นอกจากนี้ ภาวะเท้าแบนอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือเสื่อมสภาพไปตามอายุ

อาการของเท้าแบน
ภาวะเท้าแบนที่เกิดขึ้นในคนส่วนใหญ่ มักไม่ปรากฏสัญญาณหรืออาการใด ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกเจ็บเท้า โดยเฉพาะบริเวณส้นเท้าหรืออุ้งเท้า อาการเจ็บนั้นจะยิ่งแย่ลงเมื่อต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งเกิดอาการบวมที่ข้อเท้าด้านในร่วมด้วย โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ประสบภาวะเท้าแบนไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาหากไม่ได้มีอาการเจ็บปวดใด ๆ ที่เท้า อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดภาวะเท้าแบนควรไปพบแพทย์หากมีอาการต่อไปนี้
- รู้สึกเจ็บฝ่าเท้าแม้จะสวมรองเท้าที่ใส่สบายและรองรับเท้าแล้ว
- รู้สึกเจ็บที่อุ้งเท้าและส้นเท้า
- ฝ่าเท้าด้านในบวมขึ้น
- ยืนไม่ค่อยได้ หรือเคลื่อนไหวทรงตัวบนเท้าลำบาก
- เจ็บหลังและขา
- รองเท้าที่เคยสวมได้ ไม่สามารถสวมได้ และชำรุดเร็วเกินไป
- เท้าแบนมากยิ่งขึ้น
- ฝ่าเท้าอ่อนแรง รู้สึกชา หรือเกิดอาการฝ่าเท้าแข็ง
การรักษาภาวะเท้าแบน
ภาวะเท้าแบนไม่จำเป็นต้องรักษาหากไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดใด ๆ อย่างไรก็ดี หากผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดจากภาวะดังกล่าว ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งวิธีรักษาภาวะเท้าแบนขึ้นอยู่กับสาเหตุและระดับความรุนแรงของอาการ วิธีรักษาภาวะเท้าแบนประกอบด้วยวิธีบำบัดทางกายภาพ การรักษาด้วยยา และการผ่าตัด ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- วิธีบำบัดทางกายภาพ การรักษาภาวะเท้าแบนด้วยวิธีบำบัดทางกายภาพ มีดังนี้
- ใส่อุปกรณ์เสริมที่เท้า (Orthotic) การสวมอุปกรณ์เสริมนับเป็นขั้นแรกของการรักษาภาวะเท้าแบน โดยอุปกรณ์เสริมจะบรรเทาอาการเจ็บเท้าและช่วยหนุนเท้า ผู้ป่วยจะสอดอุปกรณ์เสริมนี้ไว้ในรองเท้า ส่วนเด็กเล็กจะได้รับรองเท้าที่ออกแบบมาโดยเฉพาะจากแพทย์ เพื่อสวมใส่จนกว่าฝ่าเท้าจะเจริญเต็มที่
- ออกกำลังยืดเส้น ผู้ป่วยเท้าแบนอันเนื่องมาจากเอ็นร้อยหวายสั้นเกินไปอาจต้องออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่ยึดเชื่อมกันของขาส่วนล่าง โดยนักกายภาพบำบัดจะช่วยแนะนำการออกกำลังกายให้แก่ผู้ป่วย ท่าออกกำลังกายยืดเอ็นร้อนหวายเริ่มจากโน้มตัวไปข้างหน้ายันผนังไว้ ก้าวขาข้างหนึ่งมาด้านหน้างอเข่า ส่วนขาที่อยู่ข้างหลังยืดตรงและลงน้ำหนักที่ส้นเท้า ทำค้างไว้ 15-30 วินาที ระหว่างที่ทำท่านี้ ควรให้ส้นเท้าราบไปกับพื้นทั้งหมด ปลายนิ้วเท้าของขาหลังอยู่ในทิศทางเดียวกับส้นเท้าของขาที่อยู่ด้านหน้า
- สวมรองเท้าที่รับกับเท้า การสวมรองเท้าที่พอดีและรับกับรูปเท้าจะทำให้รู้สึกสบายเท้ามากกว่าการสวมรองเท้าแตะหรือรองเท้าที่รองรับเท้าของผู้สวมได้น้อย
- ทำกายภาพบำบัด ภาวะเท้าแบนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บจากการวิ่งมากขึ้น นักกายภาพบำบัดจะช่วยวิเคราะห์ลักษณะการวิ่งของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปรับลักษณะและเทคนิคการวิ่งให้ดีขึ้น
- การรักษาด้วยยา ผู้ป่วยที่เกิดอาการเจ็บเท้าเรื้อรังและเท้าอักเสบ จะได้รับยาต้านอักเสบเพื่อบรรเทาอาการปวดบวม
- การผ่าตัด หากการรักษาภาวะเท้าแบนวิธีอื่น ๆ ไม่ช่วยบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ หรือสาเหตุของภาวะดังกล่าวทำให้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วย แต่วิธีผ่าตัดจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ เช่น ผู้ป่วยเท้าแบนที่มีรูปกระดูกผิดปกติหรือติดกัน จำเป็นต้องผ่าตัดแยกกระดูกและยืดให้ตรง ส่วนผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเนื้อเยื่อที่ยึดเชื่อมกันจะได้รับการผ่าตัดรักษาเนื้อเยื่อที่เกิดปัญหา หรือผู้ที่เอ็นร้อยหวายสั้นเกินไป อาจได้รับการผ่าตัดเพื่อยืดเอ็นและลดอาการเจ็บปวดที่เท้า
การป้องกันภาวะเท้าแบน
สาเหตุของภาวะเท้าแบนมีแนวโน้มเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม จึงอาจป้องกันได้ยาก อย่างไรก็ดีภาวะเท้าแบนสามารถจัดการและป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงได้ ดังนี้
- สวมรองเท้าที่พอดีและรับกับลักษณะฝ่าเท้า
- สวมอุปกรณ์เสริมที่เท้าเพื่อลดอาการปวดเท้า
- เลี่ยงกิจกรรมหรือกีฬาที่ก่อให้เกิดแรงกระแทกที่ฝ่าเท้า เช่น วิ่ง กระโดด เล่นบาสเก็ตบอล เตะฟุตบอล หรือตีเทนนิส
- รับประทานยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดที่เท้าให้ทุเลาลง
- ลดน้ำหนักเพื่อลดแรงกระแทกที่เท้า รวมทั้งเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะเท้าแบน เช่น ดูแลตัวเองไม่ให้ป่วยเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคอ้วน
- หมั่นออกกำลังกายฝ่าเท้าและข้อเท้าที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ
|